บทความน่ารู้และสาระประโยชน์ต่าง ๆ

loading...

21/11/59

ควรให้ลูกน้อยเล่นแท็บเล็ตหรือไม่

ควรให้ลูกน้อยเล่นแท็บเล็ตหรือไม่ 



ไม่รู้ว่าเป็นโชคดีหรือโชคร้ายนะครับที่เด็กทุกวันนี้ ลืมตาขึ้นมาดูโลก ก็พบกับไอแพด ไอโฟนเลย ความที่มันเป็นหน้าจอแบบสัมผัส (Touch Screen) ใช้ง่าย แค่ใช้นิ้วแตะหรือถูไถ ก็ทำให้เกิดภาพเคลื่อนไหวหรือเสียงได้ จึงทำให้เด็กอายุเพียง 1-2 ขวบ สามารถเข้าถึงได้
เมื่อไม่นานมานี้ผมได้พบเด็กติดเกมอายุน้อยที่สุดซึ่งผมเคยพบ คืออายุเพียง 1 ปี 10 เดือน แม้ว่าเด็กคนนี้จะมาด้วยปัญหาพัฒนาการทางภาษาล่าช้ากว่าเกณฑ์เพียงเล็กน้อย แต่เด็กน่าจะมีปัญหาขาดกระตุ้นพัฒนาการภาษาและสังคมที่เหมาะสมด้วย เนื่องจากเด็กใช้เวลาเกือบตลอดวันไปกับแอปพลิเคชั่นเกมต่างๆ โดยลูกมักจะเล่นโทรศัพท์มือถือไอโฟนตามพ่อ และเล่นไอแพดของแม่ ทั้งๆ ที่ยังพูดไม่ค่อยจะได้เลย แต่เด็กคนนี้จะทำท่าขับรถเพื่อสื่อว่าต้องการเล่นเกม ซึ่งเป็น แอปพลิเคชั่นเกม ในโทรศัพท์มือถือนั่นเอง นอกจากนี้ยังชื่นชอบเกมอื่นๆ เช่น  เกมเถูสบู่ ซักผ้า รวมไปถึงแอปพลิเคชั่นสอน  ABC บนไอแพดอีกด้วย
คุณแม่เล่าว่าส่วนหนึ่งมาจากคุณพ่อ ซึ่งใช้เวลาถึงร้อยละ 80 ในชีวิตประจำวัน ไปกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตโดยครึ่งหนึ่งใช้เวลาไปกับสื่อสังคมออนไลน์ เวลาอีกครึ่งเพื่อเล่นเกม (คุณพ่อก็ติดเกมเหมือนกัน )
อีกรายหนึ่งเป็นเด็กอายุ 2 ปี 8 เดือน มาด้วยปัญหาพัฒนาการทางภาษาและสังคมล่าช้ากว่าเกณฑ์ของเด็กวัยเดียวกัน มีประวัติ ดูคอนเสิร์ตจากยูทูป (Youtube) ในไอแพด เกือบตลอดวัน นอกจากนี้ยังชอบเล่นแอปพลิเคชั่นสอนภาษาอังกฤษ ABC ที่เมื่อสัมผัสการ์ดรูปภาพ ก็จะมีเสียงภาษาอังกฤษ แม้ว่าเด็กคนนี้จะออกสำเนียงภาษาอังกฤษได้ชัด แต่ไม่สามารถสื่อสารได้อย่างเด็กปกติ
ทุกวันนี้แอปพลิเคชั่นสำหรับเด็กเล็ก ได้หลั่งไหลออกมาสู่ตลาดอย่างมากมาย ผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นเหล่านี้มักอ้างว่าเป็นแอปพลิเคชั่นการศึกษา พบว่าในไอจูนของบริษัทแอปเปิล มีแอปพลิเคชั่นสำหรับเด็กถึง 700 รายการ ซึ่งรวมไปถึงแอปพลิเคชั่นซึ่งอ้างว่า "ช่วยพัฒนาการประสานงานกันระหว่างมือและตา ช่วยเพิ่มสมาธิ หรือช่วยกระตุ้นทักษะของกล้ามเนื้อมัดเล็ก
พ่อแม่ส่วนใหญ่ก็รู้ว่าสามารถหาซื้อและดาว์นโหลดได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย มันช่วยดึงความสนใจ ทำให้ลูกน้อยอยู่นิ่งๆ ได้ แต่แท้ที่จริงแล้วมันมีประโยชน์จริงหรือไม่

คำเตือน
 
             มีคำแนะนำบิดามารดาจากสมาคมกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (The American Academy of Pediatrics,  AAP) ออกมาย้ำเตือนอีกว่า ไม่ควรให้เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ใช้เวลากับหน้าจอของอุปกรณ์สื่อสารทุกชนิด เนื่องจากสมาคมมีความกังวลว่าจะทำให้พัฒนาการทางภาษาล่าช้าและรบกวนการนอนหลับของเด็ก

             รายงานใหม่ล่าสุดของสมาคมกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา การดูโทรทัศน์อาจรบกวนเวลาในการพูดคุย (talk time) ระหว่างพ่อแม่และเด็ก อันเป็นสิ่งซึ่งมีความสำคัญมากสำหรับพัฒนาการทางภาษาของเด็ก แต่ผลกระทบของโทรทัศน์นั้น จะนำไปใช้กับผลกระทบของไอแพดด้วย ได้หรือไม่นั้น น.พ.อารี บราวน์ กุมารแพทย์และเป็นสมาชิกของสมาคมกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า "ยังไม่มีความชัดเจน เรายังไม่มีการศึกษาเพียงพอ"  กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอีกท่านหนึ่งกล่าวว่า "บางทีอาจขึ้นกับวิธีการใช้ด้วย หากเราใช้เครื่องแทบเล็ตเหมือนโทรทัศน์ (ตัวอย่างเช่นการดู Youtube) ก็ควรถือว่าต้องใช้คำแนะนำแบบเดียวกัน" อย่างไรก็ตามเธอคิดว่า อาจเป็นไปได้ที่เราจะใช้แอปพลิเคชั่นที่มีปฏิสัมพันธ์เล่นกับลูกน้อยบ้าง ตัวอย่างเช่น ให้เด็กแตะที่ภาพวัว แล้วมีเสียง "มอ" ออกมา แต่อย่างไรก็ดีไม่ควรใช้แอปพลิเคชั่นใดๆ เพื่อสอนทักษะสำคัญของชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งซึ่งเป็นสามมิติในโลกความเป็นจริง น.พ.ดิมิทรี คริสทาคิส ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพ พฤติกรรมและพัฒนาการเด็ก ของโรงพยาบาลเด็กแห่งซีเอตเทิล ระบุถึงแอปพลิเคชั่น เกี่ยวกับการการสร้างบล็อกหรือต่อเลโก้ว่า "เราไม่ต้องการให้สิ่งเหล่านี้ เข้ามาแทนที่การต่อบล็อกหรือต่อเลโก้จริงๆ ซึ่งเด็กๆ เคยเล่นอยู่แล้ว นี่ไม่ใช่โลกแห่งความเป็นจริงแล้ว ทำไมเราไม่ให้เด็กเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากโลกแห่งความเป็นจริงบ้าง"



• มีประโยชน์บ้างหรือไม่
 
                อย่างไรก็ดี มีงานวิจัยบางชิ้นแนะนำว่า บางแอปพลิเคชั่นอาจช่วยเพิ่มประสบการณ์การเรียนรู้ให้เด็กโตๆ ได้ จากงานวิจัยล่าสุดโดยกระทรวงศึกษาธิการ ของสหรัฐอเมริกาพบว่าแอปพลิเคชั่นบนไอโพน  PBS Kids  สามารถเพิ่มการเรียนรู้คำศัพท์ ให้เด็กวัย 3-7 ปี ได้มากถึงร้อยละ 31 ในช่วยระยะเวลา 2 สัปดาห์ ศาสตราจารย์ โรส ลักคิน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญศูนย์ออกแบบการเรียนรู้ ของมหาวิทยาลัยลอนดอน พบว่าอุปกรณ์แท็บเล็ตสามารถจุดประกายปฏิสัมพันธ์ในกระบวนการเรียนรู้ได้ เธอพบว่าเด็กอายุ 5-6 ปีซึ่งใช้แท็บเล็ตบันทึกกิจกรรมที่โรงเรียนแล้วนำกลับไปบอกพ่อแม่ที่บ้าน จะมีแนวโน้มที่จะเกิดกระบวนการการเรียนรู้ดีกว่าประโยชน์อย่างหนึ่งของเทคโนโลยี เช่นไอแพดนี้ อาจมีข้อดีบางอย่างคือ มันอาจเป็นตัวกระตุ้นให้พ่อแม่และเด็กสนทนากัน อุปกรณ์แท็บเล็ตอาจไม่ได้เลวร้ายเสมอไป หากเราเลือกใช้มันเป็นตัวช่วยสร้างเสริมการพูดคุย แทนที่จะใช้มันโดยไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ลักคินกล่าวว่าสามัญสำนึกในการใช้เป็นสิ่งสำคัญ หากปล่อยให้เด็กคนหนึ่งนั่งเล่นไอแพด คนเดียวทั้งวัน คงจะไม่มีประโยชน์อย่างแน่นอน คำแนะนำของเธอก็คือ จงใช้อุปกรณ์เหล่านี้เพื่อเป็นตัวเสริมการเลี้ยงดูในครอบครัว แต่อย่าปล่อยให้มันดึงเวลาจากครอบครัวไปจนหมด ในช่วงเวลาที่พ่อแม่กำลังยุ่งกับงาน ไม่มีเวลาให้ลูก ควรปิดอุปกรณ์เหล่านี้ อย่าปล่อยให้ลูกหลานเล่นอุปกรณ์เหล่านี้อย่างเลื่อนลอย ไร้จุดหมาย ผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่งกล่าวเตือนว่า "ไม่มีพ่อแม่คนใด มีเวลาให้ลูกตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน แต่อย่าลืมว่า ตอนเราเป็นเด็ก แม่ของเราใช้วิธีหยิบยื่นของเล่นให้แล้วพูดว่า...เล่นของเล่นนี่ ไปก่อนนะลูก" จงปล่อยให้เด็กมีเวลาในการเล่นอย่างอิสระ ตามความต้องการของตนเองบ้าง เด็กคงไม่ได้ต้องการจะรับการกระตุ้นจากภายนอกตลอดทั้งวันเป็นแน่
ทุกวันนี้มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา คุณพ่อคุณแม่ยุคนี้จึงจำเป็นต้องศึกษาหาข้อมูล ผลดี ผลเสียของอุปกรณ์ใหม่ๆ เหล่านี้ แล้วใช้วิจารณญาณ เลือกใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมกับลูกหลานของเราครับ

เรื่อง : น.พ. กมล แสงทองศรีกมล
กุมารแพทย์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

ขอขอบคุณ ข้อมูลจากโรงพยาบาลกรุงเทพ
ขอขอบคุณ : http://motherandchild.in.th