สายใยรักและความผูกพัน
เมื่อโตขึ้นสายใยรักและความผูกพันจะหมดไปหรือไม่
คำตอบคือ “ไม่” ครับ หากแต่รูปแบบพฤติกรรมจะเปลี่ยนแปลงไป โดยจะลดความถี่
ความรุนแรงลง ตามอายุที่เพิ่มขึ้น ตามเพศ และประสบการณ์ในอดีต
แต่จะเพิ่มขึ้นเมื่อ มีความเครียด เจ็บป่วย หรือหวาดกลัว
ยกตัวอย่างง่ายๆ นักศึกษาคนหนึ่งต้องจากพ่อแม่ไปศึกษาต่อต่างประเทศหลายปี
สายใยรักและความผูกพันที่มีต่อพ่อแม่ยังคงอยู่ แต่ไม่แสดงออกมากนัก
มีการติดต่อ คิดถึงครอบครัวบ้างพอสมควร แต่จะไม่เหมือนเด็กอนุบาล 1
ซึ่งเพิ่งเข้าโรงเรียนวันแรกแล้วร้องไห้คร่ำครวญตามพ่อแม่
แต่อยู่มาวันหนึ่ง นักศึกษาคนนี้เกิดป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ มีอาการรุนแรง
ไข้สูง หนาวสั่น ไม่มีใครหาข้าวปลาอาหารให้กิน
ในขณะที่กำลังทุกข์ทรมานอยู่นั้น
สายใยรักและความผูกพันก็จะกลับมารุนแรงและถี่ขึ้นอีกครั้ง
โดยคนแรกที่นึกถึงคือแม่ คิดย้อนไปถึงวัยเด็กที่มีพ่อแม่คอยดูแล เอาใจใส่
ปกป้องและปลอบโยน ไม่ลำบากเหมือนที่เป็นอยู่ตอนนี้
สายใยรักและความผูกพันจึงเป็นเรื่องของธรรมชาติแห่งอารมณ์และความสัมพันธ์ของมนุษย์เรานั่นเองครับ
• เด็กทารกซึ่งต่างกัน
มีการศึกษาวิจัยเด็กซึ่งถูกเลี้ยงดูในสภาวะของสายใยรักและความผูกพันซึ่งแตกต่างกัน
เมื่อเติบโตขึ้นเป็นเด็กโตหรือผู้ใหญ่แล้วจะแตกต่างกันหรือไม่และอย่างไร
พบว่าเด็กทารกจะพัฒนาความมั่นคงทางใจ
โดยมีความสัมพันธ์กับการดูแลซึ่งอ่อนโยน
พร้อมที่จะตอบสนองและให้ความช่วยเหลือเมื่อต้องการ
ได้มีการศึกษาพฤติกรรมและการแสดงออกของเด็ก
โดยในตอนแรกให้แม่และเด็กเล่นอยู่ด้วยกันในห้อง แล้วให้แม่แยกจากไป
เป็นระยะเวลา 3 นาที ต่อมาจึงให้แม่กลับมาใหม่
พร้อมกับสังเกตว่าเด็กแต่ละคนจะตอบสนองต่อการกลับมาของแม่ในลักษณะที่แตกต่างกันอย่างไรบ้าง
ทำให้เราสามารถจำแนกเด็กซึ่งได้รับความผูกพันแตกต่างกันออกได้เป็น 3 กลุ่ม
ดังต่อไปนี้
1. กลุ่มที่มีความมั่นคงทางจิตใจ (Secure)
เป็นกลุ่มที่ได้รับความผูกพันทางใจอย่างมั่นคง ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี
ทารกกลุ่มนี้จะมีความมั่นใจว่าความต้องการของตนเองจะได้รับการตอบสนองอย่างเหมาะสม
สม่ำเสมอและทันที
การศึกษาพฤติกรรมและการแสดงออกของเด็กกลุ่มนี้ พบว่า เมื่อให้แม่แยกจากไป
เป็นระยะเวลา 3 นาที แล้วให้แม่กลับมาใหม่ เด็กกลุ่มนี้
จะตอบสนองในลักษณะของการเข้าหา แสดงความต้องการให้แม่เข้ามาใกล้ชิด
สัมผัสและโอบกอด พร้อมกับแสดงพฤติกรรมเป็นมิตร เช่น ยิ้มให้ ยื่นของเล่นให้
2. กลุ่มที่ไม่มีความมั่นคงทางจิตใจและหลีกหนี (Insecure avoidant)
เมื่อให้แม่กลับมาใหม่ พบว่าเด็กกลุ่มนี้กลับตอบสนองในลักษณะ หลีกหนีไปจากแม่ เย็นชา แสดงท่าทีและพฤติกรรมที่ไม่สนใจแม่
3. กลุ่มที่ไม่มีความมั่นคงทางจิตใจและต่อต้าน (Insecure resistant)
เมื่อให้แม่กลับมาใหม่
พบว่าเด็กกลุ่มนี้ตอบสนองการกลับมาของแม่โดยการเข้ามาหา
แต่กลับแสดงอารมณ์โกรธ เกรี้ยวกราด
และต่อมายังแสดงพฤติกรรมต่อต้านการกลับมาของแม่อีกด้วย
• เมื่อโตขึ้นแล้ว แตกต่างกันอย่างไร
เด็กทั้ง 3
กลุ่มมีความมั่นคงทางจิตใจแตกต่างกันอันเนื่องมาจากการได้รับสายใยรักและความผูกพันซึ่งแตกต่างกันนั่นเอง
ได้มีการติดตามเด็กทั้ง 3 กลุ่มนี้ เมื่อเติบโตขึ้น อายุ 1 ปี และ 4 ปี
โดย พบว่า
1. กลุ่มที่มีความมั่นคงทางจิตใจ
เมื่อโตขึ้นจะเป็นเด็กที่ให้ความร่วมมือดีในทุกเรื่อง เป็นมิตรกับผู้อื่น ปรับตัวง่าย มีความยืดหยุ่น
2. กลุ่มที่ไม่มีความมั่นคงทางจิตใจและหลีกหนี
พบว่าเมื่อเติบโตขึ้นเมื่อโตขึ้นจะเป็นเด็กที่อารมณ์หงุดหงิดง่ายและอาจต่อต้านสังคม
3. กลุ่มที่ไม่มีความมั่นคงทางจิตใจและต่อต้าน
พบว่าเมื่อโตขึ้นเมื่อโตขึ้นจะเป็นเด็กเครียดง่าย หุนหันพลันแล่น ไม่ค่อยช่วยเหลือตัวเอง
เห็นอย่างนี้แล้ว
ท่านผู้อ่านทุกคนคงอยากให้ลูกหลานของเราเป็นเหมือนเด็กกลุ่มแรกคือมีความมั่นคงทางใจ
ดังนั้น เรามาช่วยกันมอบสายใยรักและความผูกพัน
ให้ลูกหลานของเราอย่างเหมาะสมกันเถิดครับ
ขอขอบคุณ ข้อมูลจากโรงพยาบาลกรุงเทพ
เรื่อง : น.พ.กมล แสงทองศรีกมล
กุมารแพทย์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น