ลูกกับเกมบนโทรศัพท์มือถือ
ไม่น่าเชื่อนะครับว่าวิดีโอเกม นั้นมีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970
แล้ว ดังนั้นจึงเป็นที่นิยมและคุ้นเคยของเด็กแทบจะทุกคน
และรวมไปถึงผู้ใหญ่บางคนด้วย คุณพ่อคุณแม่มือใหม่
ซึ่งอายุยังไม่มากจึงเติบโตขึ้นมาพร้อมวิดีโอเกมยุคก่อนๆ ด้วยเหมือนกัน
นอกจากนั้นรูปแบบของวิดีโอเกมทุกวันนี้ ยังเข้ามาใกล้ชิดเรามากขึ้น
เช่นเข้ามาเป็นโปรแกรมหรือแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนต่างๆ เช่น
ไอโฟน หรือแอนดรอย หรือ แทปเล็ตพีซี เช่น ไอแพด ตัวอย่างเกมยอดฮิตก็เช่น
Angry Bird ที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ก็ชอบเล่น หรือ Simsimi
ซึ่งเป็นข่าวดังเมื่อไม่นานมานี้
• ลักษณะเฉพาะของเกมบนโทรศัพท์มือถือ
ลักษณะเฉพาะของเกมบนโทรศัพท์มือถือ มักจะล้อไปกับลักษณะเฉพาะของโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน 3 ประการดังต่อไปนี้ครับ
1. เข้าถึงได้ง่าย พกพาสะดวก ซึ่งเหตุผลตรงนี้
ก็จะตามไปกับความสะดวกสบายในการใช้งานโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน เช่น ไอโฟน
หรือแอนดรอย หรือแทปเล็ตพีซี เช่นไอแพด ที่สามารถเปิดปุ๊บ ติดปั๊บ
ไม่ต้องรอบู๊ตเครื่อง ออนไลน์ก็แสนจะสะดวกง่าย ดาย ทั้ง ระบบ 3G และ Wifi
2. อาจใช้เวลาในการเล่นเกมมากกว่าปกติ
โดยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างก็ไม่รู้ตัว ยกตัวอย่างเช่น
เล่นเกมบนโทรศัพท์มือถือ ขณะเดินทางอยู่บนรถ ยิ่งในกรุงเทพฯ รถติดๆ
อาจเล่นเพลินเป็นชั่วโมงโดยผู้เล่นไม่รู้ตัว
หรือเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดก็ยิ่งนานขึ้นไปอีก
นอกจากนี้เวลานั่งรอคิวอะไรอยู่ก็หยิบมาเล่นได้หมด
หรือที่แย่กว่านั้นคือเดินไปเล่นไป รับประทานอาหารไปเล่นไปครับ
3. มีความหลากหลายของประเภทเกมเป็นอย่างมาก ทั้งประเภท เกมน่ารักๆ
เกมตกแต่งรูปภาพ ไปจนถึงเกมผจญภัย หรือมีฉากก้าวร้าว รุนแรงร่วมด้วย
อีกทั้งแต่เกมแต่ละเกม
ก็กินเนื้อที่ความจำในเครื่องโทรศัพท์มือถือไม่มากนัก
ทำให้โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ๆ สามารถบรรจุเกมได้หลายสิบเกม
• พ่อแม่พึงสังวรณ์
ในการที่จะให้คำแนะนำลูกหลานเกี่ยวกับการเล่นวิดีโอเกมรวมไปถึงเกมบนโทรศัพท์มือถือนั้น
จึงมีเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ต้องพึงสังวรณ์ อยู่ 2 ประการคือ
1. คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญกับการประเมินเนื้อหาและลักษณะของเกม
ว่าเหมาะสมกับวัยและพัฒนาการของลูกหรือไม่ บางเกมอาจเป็นเกมน่ารักๆ
แต่บางเกมอาจแฝงความก้าวร้าว รุนแรงไว้
2. คุณพ่อคุณแม่ควรตรวจสอบเวลาที่ลูกใช้ในการเล่นวิดีโอเกม
เช่นเดียวกันกับกิจกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกมบนโทรศัพท์มือถือ
ทั้งนี้เพราะเด็กมักใช้เวลาในการเล่นโดยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างก็ไม่รู้ตัว
ดังได้กล่าวไปแล้ว
การประเมินความเหมาะสมของเนื้อหาของเกมบนโทรศัพท์มือถือนั้น
คุณพ่อคุณแม่มีความรับผิดชอบที่จะต้องช่วยลูกในการเลือกเช่นเดียวกันกับการเลือก
หนังสือ ของเล่น รายการโทรทัศน์ และภาพยนตร์ ให้เหมาะสมกับลูกแต่ก็คน
สิ่งบันเทิงควรสนุกสนาน สร้างสรรค์
และไม่ควรน่ากลัวหรือกระตุ้นความวิตกกังวล หรือทำให้ฝันร้าย
เกมบนโทรศัพท์มือถือก็อาจเป็นสาเหตุของความก้าวร้าวที่เพิ่มขึ้นในเด็กได้เช่นกัน
แม้ว่าการศึกษาวิจัย ก็ยังไม่ได้ยืนยันชัดเจนนัก
แต่ก็เป็นที่รู้กันดีว่ามีเด็กบางคนมีแนวโน้มที่จะแสดงออกอย่างที่เขาเห็น
เด็กบางคนอาจไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างจินตนาการและความเป็นจริง
นอกจากนี้เด็กบางคนอาจไม่สามารถควบคุมตัวเองและแสดงออกตามที่ได้เห็นจากสื่อต่างๆ
ในขณะที่เด็กอีกกลุ่มอาจได้รับผลกระทบทางอารมณ์จากเนื้อหาของสื่อ
อย่างไรก็ตามมีผลการวิจัยชิ้นหนึ่งของศาสตราจารย์เรียวตะ คาวาซิม่า (Ryuta
Kawashima) แห่งมหาวิทยาลัยโตโฮกุ ในประเทศญี่ปุ่น พบว่า
การเล่นเกมคอมพิวเตอร์เป็นประจำอาจทำเด็กสูญเสียโอกาสพัฒนาทางสมองก็เป็นได้
งานวิจัยเรื่องนี้ทดสอบการทำงานของสมองของเด็กสองกลุ่ม
กลุ่มหนึ่งทดสอบขณะที่เด็กกำลังเล่นเกมคอมพิวเตอร์
ส่วนอีกกลุ่มขณะที่เด็กกำลังทำโจทย์เลข ปรากฏว่า
เด็กที่กำลังเล่นเกมจะใช้ประสาทสมองเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับสายตา
และการเคลื่อนไหวของอวัยวะเท่านั้น
ต่างกับเด็กกลุ่มที่สองที่จะใช้สมองเกือบทุกส่วน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เรียกกันว่า บริเวณ frontal lobe
ซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมอารมณ์ การจดจำสิ่งต่างๆ
การแสดงความรู้สึกและการเรียนรู้ แสดงให้เห็นว่า
ถ้าเด็กกลุ่มแรกไม่ค่อยได้ใช้ประสาทส่วนที่ว่านี้
และหากเด็กกลุ่มแรกเติบโตขึ้นไป
โดยไม่สามารถยับยั้งการเล่นเกมจนติดเป็นนิสัย อาจจะเพิ่มโอกาสที่จะก้าวร้าว
ไม่มีเหตุผลและทำอะไรไม่ยั้งคิด ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาความรุนแรงได้
ผลสำรวจล่าสุดของ AOL Game และ TIME พบว่า
ประมาณครึ่งหนึ่งของคนอเมริกันที่อายุระหว่าง 12 - 55 ปี
ใช้เวลาเล่นเกมอย่างน้อย 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
โดยไม่จำกัดว่าอุปกรณ์นั้นเป็นเกมคอนโซล เกมคอมพิวเตอร์พีซี
เกมบนโทรศัพท์มือถือ หรือเกมพกพาในรูปแบบต่างๆ
นอกจากนั้นเกมที่เล่นนั้นยังบ่งบอกถึงลักษณะของผู้เล่นอีกด้วย
ซึ่งสามารถแบ่งแยกได้ตามเพศและอายุ
ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่
อาจรู้สึกสนุกสนานกับเนื้อหาที่มีความรุนแรงบ้าง หนังสือหรือนิทานหลายๆ
เรื่องก็อาจมีฉากหรือเนื้อเรื่องเกี่ยวข้องกับความรุนแรงอยู่ด้วย
อย่างไรก็ตามสื่อต่างๆ
ทั้งภาพยนตร์หรือวิดีโอเกมในปัจจุบันมีความสมจริงมากขึ้น ทำให้ฉากต่างๆ
เหล่านี้จะมีความชัดเจนและเข้าสู่จิตใจของเด็กๆ
ได้มากกว่าการอ่านจากหนังสือ จึงทำให้บางครั้งเด็กๆ
อาจนำเนื้อหาจากสื่อไปใช้ในการเล่นรุนแรง
ซึ่งตรงนี้ทำให้พ่อแม่กลุ่มหนึ่งหลีกเลี่ยงที่จะซื้อของเล่นที่สื่อถึงความรุนแรงเช่นมีดดาบ
ปืน เพียงเพราะเห็นลูกเคยเอาของเล่นเหล่านั้นไปใช้เล่นตามฉากที่รับชม
คุณพ่อคุณแม่จึงควรมีความรู้ ความเข้าใจในพื้นฐานอารมณ์ของเด็กแต่ละคน
เพื่อที่จะช่วยเด็กในการเลือกเนื้อหาเกมบนโทรศัพท์มือถือได้อย่างเหมาะสม
• เกมมีข้อดีบ้างหรือไม่
ผู้ปกครองอาจช่วยลูกหลานในการเลือกสื่อซึ่งอาจให้ความรู้ด้วยหรือมีแต่เนื้อหาบันเทิงอย่างเดียวบ้างก็ได้
แต่อย่างไรก็ตามนักจิตวิทยาเด็กบางคนคิดว่าวิดีโอเกมบางอย่างอาจช่วยพัฒนาเชาน์ปัญญาเช่นความสามารถในการวางแผน
มิติสัมพันธ์ หรือการประสานงานระหว่างกล้ามเนื้อมือและตา
พ่อแม่อาจใช้เวลาเล่นเกมกับลูกบ้างเพื่อที่จะได้เรียนรู้ เข้าใจ
และพูดคุยเกี่ยวกับแนวคิด ความรู้สึกต่างๆ
รวมไปถึงคุณพ่อคุณแม่อาจหาโอกาสร่วมปรึกษาหารือหรือสอดแทรกเรื่องคุณธรรม
จริยธรรมลงไปให้กับลูกด้วย
ในปัจจุบันสื่อต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกมบนโทรศัพท์มือถือ
ได้พัฒนารูปแบบไปมาก ทั้งความสมจริง และความง่ายที่จะเข้าถึง
คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้เท่าทันเพื่อจะได้ช่วยดูแลลูกในการเลือกสื่อต่างๆให้เหมาะสม
และช่วยควบคุมเวลาในการเล่นด้วยครับ
เรื่อง : น.พ.กมล แสงทองศรีกมล
กุมารแพทย์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
ขอขอบคุณข้อมูลจากโรงพยาบาลกรุงเทพ